การเคหะแห่งชาติ” เดินหน้าความร่วมมือกับ “กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก

“การเคหะแห่งชาติ” เดินหน้าความร่วมมือกับ “กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก”

ดำเนินโครงการส่งเสริมที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกในระดับประเทศ

“การเคหะแห่งชาติ” มีภารกิจสำคัญในการจัดหาที่อยู่อาศัยให้กับพี่น้องประชาชน ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มเปราะบาง หนึ่งในโครงการที่ถือเป็นความสำเร็จ คือ การได้ทุนสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility : GEF) จำนวน 3,141,142 เหรียญสหรัฐฯ หรือ ประมาณ 98 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปีเพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย (Accelerating construction of energy efficient green housing units in Thailand) เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564

นายทวีพงษ์  วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือกับกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก ภายใต้โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme : UNEP) คือเป็นหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ ได้อนุมัติเงินทุนสนับสนุนให้การเคหะแห่งชาติดำเนินโครงการส่งเสริมที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการสร้างที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงาน และตอบสนองเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนารูปแบบการติดฉลากเบอร์ 5 สำหรับบ้านเดี่ยวและบ้านแนวราบ รวมถึงประชาสัมพันธ์เผยแพร่ สร้างความตระหนักและขยายผลการดำเนินงานการพัฒนาที่อยู่อาศัยสีเขียวประหยัดพลังงานในวงกว้าง

การเคหะแห่งชาติ ได้คัดเลือกโครงการประเภทอาคารเช่านำร่อง 7 โครงการ จำนวนรวม 1,373 หน่วย ได้แก่ โครงการจังหวัดเพชรบุรี (โพไร่หวาน) จำนวน 246 หน่วย โครงการจังหวัดมุกดาหาร จำนวน 78 หน่วย โครงการจังหวัดนครสวรรค์ 2 ระยะที่ 2 จำนวน 196 หน่วย โครงการจังหวัดสมุทรสาคร (กระทุ่มแบน 3) จำนวน 196 หน่วย โครงการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (โรจนะ) ระยะที่ 1 จำนวน 441 หน่วย โครงการอาคารเช่าข้าราชการ จังหวัดสกลนคร จำนวน 146 หน่วย และโครงการอาคารเช่าข้าราชการ จังหวัดเลย จำนวน 70 หน่วย

            ความคืบหน้าล่าสุดของโครงการนี้ ปัจจุบันการเคหะแห่งชาติ ได้มีการจ้างผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามาส่งเสริมการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการส่งเสริมที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย (ระยะเวลา 3 เดือน) เพื่อศึกษารูปแบบการลงนามบันทึกความตกลง (Project Cooperation Agreement : PCA), วิเคราะห์กิจกรรมและงบประมาณในแต่ละองค์ประกอบ, Key Launch โครงการที่มีความเกี่ยวข้องกับ GEF เป็นต้น รวมถึงได้จัดประชุมหารือร่วมกับผู้แทนสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เกี่ยวกับความสามารถในการบริหารเงินและการบริหารโครงการของหน่วยงาน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการคัดเลือกหน่วยงานที่ 3 (Third Party) ที่จะลงนามในบันทึกความตกลง (PCA) ร่วมกับการเคหะแห่งชาติ และ UNEP โดยทำหน้าที่เป็นหน่วยงานบริหารโครงการ (Project Management Unit : PMU)

            “จากการประชุมร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย พบว่า สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยสามารถรับเงินและบริหารโครงการได้ โดยมีประสบการณ์ทำงานเป็นหน่วยงานที่ 3 ให้กับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (Deutsch Gesellschaftfur Internationale Zusammenarbeit : GIZ) และมีประสบการณ์ทำงานด้านเมือง ชุมชน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การรรับรองฉลากเขียว ฉลากอาคาร ฉลากบ้าน โดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สามารถเปิดบัญชีใหม่ เพื่อรับเงินจาก GEF และโอนเงินให้หน่วยภาคีได้” ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าว

            นายทวีพงษ์ กล่าวว่า การได้รับการสนับสนุนจาก “กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก” จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในการเพิ่มศักยภาพการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกในระดับประเทศ รวมทั้งสนับสนุนประชาชนให้มีโอกาสเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่ประหยัดพลังงาน เพิ่มขีดความสามารถในการออกแบบที่อยู่อาศัยที่ประหยัดพลังงาน และการรับรู้ให้กับสาธารณชนเกี่ยวกับประโยชน์ของที่อยู่อาศัยสีเขียว และประหยัดพลังงาน รวมทั้งเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว

Compare listings

เปรียบเทียบ
Skip to content