“การเคหะแห่งชาติ” ปลื้มผลสำเร็จโครงการ “บ้านเบอร์ 5”

“การเคหะแห่งชาติ” ปลื้มผลสำเร็จโครงการ “บ้านเบอร์ 5”

พัฒนาสู่โครงการชุมชนอัจฉริยะและน่าอยู่อย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

หนุนใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้อยู่อาศัยในชุมชน

การเคหะแห่งชาติ เป็นองค์กรหลักด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย จึงได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในโครงการสำคัญ คือ โครงการฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพพลังงานสำหรับบ้านที่อยู่อาศัย หรือโครงการบ้านเบอร์ 5 ซึ่งร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาและส่งเสริมโครงการฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพพลังงานสำหรับบ้านที่อยู่อาศัย หรือ “บ้านเบอร์ 5” ตั้งแต่ปี 2560 เพื่อพัฒนาและส่งเสริมที่อยู่อาศัยที่มีคุณสมบัติประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้อยู่อาศัย ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ และสร้างความตระหนักแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับการประหยัดพลังงาน รวมทั้งขยายผลการดำเนินงานความร่วมมือการพัฒนาที่อยู่อาศัยประสิทธิภาพสูงอย่างเป็นรูปธรรมมาจนถึงปัจจุบัน

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากผลดำเนินโครงการบ้านเบอร์ 5 ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน ได้ยกระดับให้เกิดการออกแบบก่อสร้างและเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่มีประสิทธิภาพสูงและอุปกรณ์ไฟฟ้าเบอร์ 5 ในโครงการที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ 16 โครงการ รวม 3,963 หน่วย โดยคาดว่าเมื่อดำเนินการสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถส่งผลให้ประเทศประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 4.82 ล้านหน่วยต่อปี ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายไฟฟ้าของผู้อาศัยได้ประมาณ 17.35 ล้านบาทต่อปี และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 2,300 ตันต่อปี

โดยในปี 2562 กฟผ. ร่วมกับ การเคหะแห่งชาติ เปิดตัว “โครงการบ้านเบอร์ 5” แห่งแรก ณ โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชน เชิงสังคม จังหวัดชลบุรี (บ่อวิน) ระยะที่ 2 ซึ่งถือเป็นตัวอย่างของความสำเร็จจากการการดำเนินงานร่วมกัน โดยโครงการดังกล่าว กฟผ. ได้รับรองแบบตามเกณฑ์ของบ้านเบอร์ 5 รวมถึงทำการประเมินผลการประหยัดพลังงาน พบว่าสามารถส่งผลให้ประเทศประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 415,000 หน่วยต่อปี ลดภาระค่าใช้จ่ายไฟฟ้าของผู้อาศัยได้ประมาณ 1,660,000 บาทต่อปี และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 210 ตันต่อปี

โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชน เชิงสังคม จังหวัดชลบุรี (บ่อวิน) ระยะที่ 2 ตั้งอยู่ บ่อวิน อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี จัดสร้างเป็นบ้านเดี่ยว 2 ชั้น จำนวน 415 หน่วย ขนาดพื้นที่ประมาณ 21 ตารางวา พื้นที่ใช้สอยภายในประมาณ 54 ตารางเมตร ประกอบด้วย 2 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ และพื้นที่รับแขก โดยโครงการได้นำเกณฑ์ประเมินโครงการชุมชนน่าอยู่น่าสบายอย่างยั่งยืน (ECO VILLAGE) และหลักเกณฑ์ในการออกแบบสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับทุกคน (UNIVERSAL DESIGN) มาใช้เป็นแนวทางในการออกแบบวางผังโครงการและออกแบบอาคาร ซึ่งตัวบ้านได้ออกแบบภายใต้แนวคิด ทรอปิคอลโมเดิล (Tropical Style) โดยมีรูปทรงของหลังคาเป็นลักษณะของหลังคาเพิงหมาแหงน (Lean To) รวมถึงมีลักษณะของกันสาดที่ให้บรรยากาศของบ้านในเขตร้อนชื้นที่เหมาะกับภูมิอากาศของประเทศไทย และด้วยขนาดของแปลงที่ดินที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนักทำให้เกิดการซ้อนทับและบดบังทาบเงาของบ้านแต่ละหลังทำให้ช่วยลดความร้อนของตัวอาคารได้เป็นอย่างดี

จากความเห็นของผู้อยู่อาศัยในโครงการเคหะชุมชนฯ นายวัลลภ นาคอ่อน บ่อวิน อาชีพช่างไฟฟ้า กล่าวว่า จากการออกแบบบ้าน ทำให้มีลมและแสงเข้าบ้านเพียงพอ ช่วยประหยัดค่าไฟได้ถึง 50% ต่อเนื่อง จากเดิมประมาณ 700-800 บาทต่อเดือน เช่นเดียวกับ นายวสันต์ ชัยบุรินทร์ อีกหนึ่งผู้อาศัยในโครงการ กล่าวว่า ด้วยการออกแบบทำให้บ้านไม่ต้องติดแอร์ ช่วยลดค่าไฟ จากเดิมจ่ายอยู่ที่ 600-700 บาทต่อเดือน เหลือเพียง 300-350 บาทต่อเดือน ช่วยเพิ่มความสุขในการอยู่อาศัยได้มากขึ้น

          ในปี 2563 การเคหะแห่งชาติ และ กฟผ. ยังได้ขยายขอบเขตความร่วมมือสู่ “โครงการชุมชนอัจฉริยะและน่าอยู่อย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” หรือ SSC ด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาชุมชนที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ ให้เกิดการใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ โดยวางแนวทางที่จะบูรณาการระบบแสดงผล และเฝ้าระวังคุณภาพอากาศ พร้อมบริหารจัดการพลังงานองค์รวมแบบอัจฉริยะ (Smart Energy Solution) จัดแสดงผ่านแอปพลิเคชันให้ผู้อาศัยเห็นถึงข้อมูลการใช้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงสร้างอาชีพและรายได้ให้ชุมชนในระบบ Online for Life สร้างทักษะอาชีพ ผ่านคลิปวิดีโอออนไลน์ และรูปแบบ On-ground for Life ตลาดนัดสินค้าชุมชนของ กฟผ.และ การเคหะแห่งชาติ เป็นต้น

แนวทางการดำเนินงานจะเน้นการมีส่วนร่วมจากผู้อยู่อาศัยในชุมชน ตลอดจนคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ซึ่งได้นำร่องที่บ้านเอื้ออาทรบางโฉลง จ.สมุทรปราการ เป็นแห่งแรก โดยในปี 2565 มีแผนจะขยายผลอีก 4 ชุมชน ได้แก่ โครงการบ้านเอื้ออาทรบางบัวทอง 2 โครงการบ้านเอื้ออาทรรังสิตคลอง 10/2   โครงการบ้านเอื้ออาทรระยอง (บ้านฉาง 3) และโครงการบ้านเอื้ออาทรเมืองใหม่บางพลี

นายทวีพงษ์ กล่าวว่า จากความสำเร็จดังกล่าว ส่งผลให้การเคหะแห่งชาติ ได้รับ “รางวัลความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาดีเด่น” จาก รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2564 ซึ่งมอบให้รัฐวิสาหกิจที่มีความร่วมมือในเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาร่วมกันตามพันธกิจของหน่วยงาน เมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา 

“โครงการบ้านเบอร์ 5 เป็นมาตรการที่สนับสนุนให้เกิดการยกระดับการใช้พลังงานในภาคที่อยู่อาศัยของประเทศ รองรับเป้าหมายการลดการใช้ไฟฟ้าตามกรอบแผนอนุรักษ์พลังงานปี 2558 – 2579 ซึ่งจะมีการขยายผลสู่ความร่วมมือกับผู้ประกอบการธุรกิจภาคที่อยู่อาศัยในภาคเอกชนในอนาคต” นายทวีพงษ์ กล่าว

Compare listings

เปรียบเทียบ
Skip to content